สำหรับการเลือกใช้ท่อลมชนิดอ่อนนั้น ควรเลือกใช้ท่อลมที่ผลิตจากกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจึงได้ท่อลมที่มีความประณีตคุณภาพดีมีขนาดสม่ำเสมอตลอดความยาวทั้งเส้น และมีขนาดพอดีกับข้อต่อลม (Push-in Fittings) ทุกชนิด โดยปกติท่อลมที่ทำจากไนล่อน (Nylon tube) จะมีความเหนียว (Tough) และคงทนต่อการสึกหรอของผิวได้ดีเป็นพิเศษ (Abrasion resistant) จึงทำให้ท่อลมที่ทำจาก ไนล่อน (Nylon tube) ได้รับความนิยมใช้งานในระบบนิวเมติกส์ (Pneumatic system) โดยทั่วไปและแพร่หลายมานาน

แต่สำหรับการติดตั้งระบบนิวเมติกส์ (Pneumatic piping system) ที่มีความซับซ้อนและมีพื้นที่จำกัดที่ต้องม้วนท่อลม (Tight Bend Radius) เช่นในตู้ควบคุมไฟฟ้า (Control Cabinet) ท่อลมที่มีความอ่อนตัวสูงที่ทำจากโพลี่ยูรีเทน (Polyurethane tube) จะมีความเหมาะสมในการใช้งานดีกว่า

โพลียูรีเทน

โพลียูรีเทน (Polyurethane, PU) ผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้ทดแทนยางธรรมชาติ และยังใช้ในการผลิตกระดาษ การผลิตก๊าซมัสตาร์ด ผ้าที่มีความทนทาน เคลือบผิวเครื่องบิน เคลือบโลหะ ไม้ และอิฐ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนและสารเคมี
โพลียูรีเทนผลิตจากปฏิกิริยาของโพลีออลกับไดไอโซไซยาเนตหรือโพลีเมอริก ไอโซไซยาเนต โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม โพลียูรีเทนส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมเซ็ต คือ ไม่สามารถหลอมเหลวและขึ้นรูปใหม่ได้ ซึ่งผลิตออกมาหลายรูปแบบได้แก่ เป็นโฟมยืดหยุ่น โฟมแข็ง สารเคลือบป้องกันสารเคมี กาว สารผนึก และอีลาสโตเมอร์
คุณสมบัติที่เด่นของท่อลมโพลี่ยูรีเทน (Polyurethane tube)
- มีหลายสีให้เลือกใช้งานจึงเหมาะสมกับการติดตั้งที่ต้องจำแนกชนิดของวงจรการทำงาน
- มีความยืดหยุ่นและทนต่อแรงจากการสั่นสะเทือนได้ดี (Good Vibration/Damping properties)
- น้ำหนักเบา
- ทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดี (High resistant to Chemical)
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลียูรีเทน
ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคที่ทำจากโพลียูรีเทนได้แก่ ท่อลม สายลมในระบบนิวเมติกส์ ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย โพลียูรีเทนได้รับการปรับปรุงและพัฒนาเป็นเส้นใยสแปนเด็ก (spandex fiber) ที่มีความทนทานและยืดหยุ่นได้ดี เป็นวัสดุใส่ในหมอน ที่นอน และเบาะนั่งรถยนต์ โฟมกันกระแทกในกล่องบรรจุภัณฑ์ วัสดุประกอบไม้-พลาสติก การทำเรือ และอิเล็กทรอนิกส์

ข้อควรคำนึง
โพลียูรีเทนติดไฟได้ง่ายและรวดเร็วมาก และเมื่อไหม้แล้วจะให้ความร้อน และควันหนาแน่นมาก ที่สำคัญคือให้ก๊าซพิษออกมาด้วยได้แก่ ไดออกซิน ไอโซไซยาไนด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น (มีกรณีมากมายที่ไฟไหม้เฟอร์นิเจอร์ที่มีโฟมโพลียูรีเทนประกอบอยู่ด้วย แล้วลุกลามไหม้บ้านทั้งหลัง)